เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [17. จัตตาลีสนิบาต] 1. เตสกุณชาดก (521)
(นกชัมพุกบัณฑิตแสดงธรรมแก่พระราชาว่า)
[27] ในโลกมีกำลังอยู่ 5 ประการ1มีอยู่ในบุรุษ
ผู้มีอัธยาศัยกว้างขวาง บรรดากำลังทั้ง 5 ประการนั้น
ขึ้นชื่อว่ากำลังแขนท่านกล่าวว่า เป็นกำลังสุดท้าย
[28] ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงพระชนมายุยืนนาน
ส่วนกำลังแห่งโภคะท่านกล่าวว่า เป็นกำลังที่ 2
และกำลังแห่งอำมาตย์ท่านกล่าวว่า เป็นกำลังที่ 3
[29] อนึ่ง กำลังแห่งชาติสกุลอันยิ่งนั้น
เป็นกำลังที่ 4 อย่างไม่ต้องสงสัย
กำลังทั้งหมด 4 ประการเหล่านั้นบัณฑิตย่อมยึดถือไว้ได้
[30] กำลังปัญญานั้นเป็นกำลังประเสริฐสุด
เป็นยอดกำลังกว่ากำลังทั้งหลาย
บัณฑิตผู้มีกำลังปัญญาสนับสนุนย่อมประสบประโยชน์
[31] แม้ถึงคนมีปัญญาทรามจะได้แผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ก็จริง
คนอื่นผู้มีปัญญาย่อมกดขี่เขาซึ่งไม่ประสงค์จะให้
ยึดครองแผ่นดินนั้นเสีย
[32] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งชนชาวกาสี
ถึงกษัตริย์แม้อุบัติในสกุลอันสูงยิ่ง
ได้ราชสมบัติแล้ว แต่มีปัญญาทราม
จะดำรงพระชนม์ชีพอยู่ด้วยโภคะแม้ทั้งปวงหาได้ไม่
[33] ปัญญาเท่านั้นเป็นเครื่องวินิจฉัยเรื่องที่ได้ฟัง
ปัญญาเป็นเหตุให้เกียรติยศชื่อเสียงเจริญ
นรชนในโลกนี้ประกอบด้วยปัญญาแล้ว
แม้เมื่อเกิดทุกข์ก็ประสบสุขได้

เชิงอรรถ :
1 กำลัง 5 คือ (1) กำลังกาย (2) กำลังโภคทรัพย์ (3) กำลังอำมาตย์ (4) กำลังชาติตระกูล (กษัตริย์)
(5) กำลังปัญญา (ขุ.ชา.อ. 7/27/277)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :599 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [17. จัตตาลีสนิบาต] 1. เตสกุณชาดก (521)
[34] ส่วนคนบางคนไม่ตั้งใจฟังด้วยดี
ไม่อาศัยท่านผู้เป็นพหูสูต ซึ่งตั้งอยู่ในธรรม
ไม่ไตร่ตรองเหตุผล ย่อมไม่ได้ลุถึงปัญญา
[35] อนึ่ง ผู้ใดรู้จักจำแนกธรรม ลุกขึ้นในกาลที่เหมาะสม
ไม่เกียจคร้าน บากบั่นตามกาลเวลา ผลงานของผู้นั้นย่อมสำเร็จ
[36] ประโยชน์ของบุคคลผู้มิใช่เป็นบ่อเกิดแห่งศีล
ผู้คบหาบุคคลผู้มิใช่บ่อเกิดแห่งศีล
ผู้มีปกติเบื่อหน่ายการทำงาน ย่อมไม่เผล็ดผลโดยชอบ
[37] ส่วนประโยชน์ของบุคคลผู้ประกอบธรรมอันเป็นภายใน
ผู้คบหาบุคคลผู้เป็นบ่อเกิดแห่งศีลเช่นนั้น
มีปกติไม่เบื่อหน่ายการทำงาน ย่อมเผล็ดผลโดยชอบ
[38] ขอเดชะเสด็จพ่อ ขอเสด็จพ่อจงทรงใฝ่หาปัญญา
คือการตามประกอบความเพียรในเหตุที่ควรประกอบ
และใฝ่หาการอนุรักษ์ทรัพย์ที่ทรงรวบรวมไว้ทั้ง 2 อย่างนั้นเถิด
อย่าทรงทำลายทรัพย์ด้วยเหตุอันไม่สมควรเลย
เพราะคนมีปัญญาทรามย่อมล่มจม
เหมือนเรือนไม้อ้อ เพราะการกระทำอันไม่สมควร
(พระโพธิสัตว์พรรณนากำลัง 5 ประการนี้แล้ว ยกกำลังคือปัญญาขึ้นกราบ
ทูลแด่พระราชาอีกว่า)
[39] ขอเดชะพระมหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์โปรด
ทรงประพฤติธรรมในพระราชมารดาและพระราชบิดาเถิด
ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์
[40] ขอเดชะพระมหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์โปรด
ทรงประพฤติธรรมในพระโอรสและพระชายาเถิด
ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :600 }